ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Kimberly-Clark Professional* อย่างเป็นทางการ

‘เจลล้างมือ’ เรื่องต้องรู้ ทั้ง ‘คนใช้-คนขาย’

‘เจลล้างมือ’ เรื่องต้องรู้ ทั้ง 'คนใช้-คนขาย'

‘เจลล้างมือ’ เรื่องต้องรู้ ทั้ง ‘คนใช้-คนขาย’

รู้หรือไม่! ทำไม “เจลแอลกอฮอล์” ถึงถูกประกาศให้จัดอยู่ในหมวดเครื่องสำอาง ประกาศแล้วมีผลอย่างไร และ มีอะไรบ้างที่ “ผู้ใช้” และ “ผู้ขาย” ต้องรู้
กลายเป็นเรื่องดราม่าอีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ พ.ศ.2562 ประกาศที่ถูกยกเลิกสำคัญไฉน?

ต้องขออธิบายก่อนว่า ประกาศกระทรวงที่ถูกยกเลิกไปนั้น เดิมทีกำหนดผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ (alcohol-bases hand sanitizer) ให้ “เป็นเครื่องมือแพทย์” ที่ต้องแจ้งรายละเอียด และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบคุม หากจะให้เข้าใจง่ายๆ ผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ ก็จำพวก เจล โลชั่น ครีม โฟม สเปรย์ สารละลาย เป็นต้น ซึ่งผลิตขึ้นมาเพื่อทำความสะอาดมือโดยไม่ต้องใช้น้ำ

ขณะที่ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นี้ ได้แก่ เอทิลแอลกอฮอล์/เอธานอล, ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์/ไอโซโพรพานอล หรือเอ็น-โพรพิวแอลกอฮอล์/เอ็น-โพรพานอล และมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า “ส่วนประกอบเหล่านี้ต้องรวมกันตั้งแต่ 70% ขึ้นไปโดยปริมาตร” ซึ่งอาจมีสารอื่นๆ ประกอบด้วยได้ เช่น สารแต่งกลิ่น สารกันเสีย

แต่ล่าสุดประกาศดังกล่าวถูกยกเลิกไป โดยเปลี่ยนให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบนั้น จากหมวดเครื่องมือแพทย์ เป็น “หมวดเครื่องสำอาง” แน่นอนว่าผู้ผลิตต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอางแทน แต่ยังกำหนดไว้เช่นเดิมว่า แอลกอฮอลที่เป็นส่วนประกอบ ต้องรวมกันตั้งแต่ 70% ขึ้นไป โดยปริมาตร และให้เหตุผลว่า เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์เร่งด่วนในปัจจุบันนั่นเอง เพราะหากเป็นหมวดเดิม อาจส่งผลไปสู่สภาวะขาดแคลนในช่วงเวลาสถานการณ์เร่งด่วนนี้ได้

ยังไม่หมด เพราะหลังจากประกาศดังกล่าว ก็มีประกาศอีกหนึ่งตัวตามมาติดๆ เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ.2563 โดยกำหนดไว้ชัดเจนว่า “เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่มีส่วนประกอบเพียงอย่างเดียว หรือผสมรวมกันน้อยกว่า 70% โดยปริมาตร ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย”

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเกิดคำถามขึ้นว่า แล้วทำไมความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่นำมาเป็นส่วนผสม ถึงต้องระบุไว้ให้เกิน 70% ด้วย?

เรื่องนี้ “นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม” เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา มีคำตอบ ก็คือว่า เนื่องจากหากมีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยกว่า 70% โดยปริมาตร จะฆ่าเชื้อโรคไม่ได้ พร้อมยังบอกอีกว่า ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือแอลกอฮอล์ที่ผ่านการจดแจ้งจาก อย. แล้ว ประชาชนจะมั่นใจได้ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70% โดยปริมาตร

ขณะที่ข้อมูลขององค์การสุรา กรมสรรพสามิต อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า แอลกอฮอล์สามารถทำลายได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรค เชื้อรา และไวรัสบางชนิด และเมื่อละลายกับน้ำจะสามารถแพร่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ได้ดีขึ้น จึงทำให้โปรตีนเสียสภาพและทำให้เยื่อหุ้มเซลล์แตก และเข้าไปรบกวนระบบ metabolism ได้ด้วย แต่ถ้าเป็นแอลกอฮอล์ บริสุทธิ์จะทำให้โปรตีนด้านนอกของเยื่อหุ้มเซลล์เสียสภาพได้ อย่างเดียวเท่านั้น ความเข้มข้นปกติที่นิยมใช้กัน จะอยู่ในช่วง 60−90% (ถ้าความเข้มข้นมากกว่านี้จะไม่สามารถเข้าเซลล์ได้)

หรือจะให้เข้าใจง่ายๆ คือ แอลกอฮอล์ระดับความเข้มข้น 95-100% จะมีการระเหยรวดเร็วมาก และมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอที่จะดูดซึมเข้าไปในเซลล์เมมเบรน แต่จะทำให้เกิดการคายน้ำออกจากเซลล์อย่างรวดเร็วโดยไม่ได้ฆ่า และเมื่ออยู่ในสภาวะเหมาะสม จุลินทรีย์เหล่านี้ได้รับน้ำเข้าเซลล์ จะสามารถคงสภาพเดิมได้

รู้อย่างนี้แล้วคงต้องกลับมามองเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่ใช้อยู่ ว่ามีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เกิน 70% หรือไม่?

ขณะที่ผู้ขายคงต้องเช็คสต็อกด่วนว่า สินค้าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในสต็อกในนั้น มีส่วนประกอบของแอลกฮอล์เกิน 70% หรือไม่ เพราะหากไม่เกินเกณฑ์กำหนดแล้ว คงจะนำมาขายไม่ได้

โดยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า หากมีการตรวจพบผู้ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ทางเจ้าหน้าที่ จะดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งผู้ผลิตหรือนำเข้า จะมีโทษ จำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ขณะที่ผู้จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท

วิธีการเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์
หลังจากมั่นใจการฆ่าเชื้อโรคแล้ว สิ่งสำคัญก่อนจะเลือกซื้อมาใช้คือ ดูแพคเกจจิ้งว่า มีฉลากชัดเจน ต้องมีรายละเอียดทั้งฉลากภาษาไทย ระบุชื่อ ส่วนผสม วิธีใช้ ผู้ผลิต และวันเดือปีที่ผลิต ภาชนะต้องปิดสนิท หากเทออกมาแล้วมีลักษณะผิดปกติหรือไม่ เช่น แยกชั้น จับตัวเป็นก้อน ตกตะกอน สีเปลี่ยนไป เหล่านี้ให้หลีกเลี่ยง

การตรวจสอบว่า แพ้หรือไม่
ส่วนที่หลายคนที่ใช้เป็นครั้งแรก อาจกังวลว่าตัวเราเองจะแพ้หรือไม่? สามารถทดสอบได้ง่ายๆ ด้วยการทาเจลเพียงเล็กน้อยตรงท้องแขน และทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง โดยสังเกตอาการแพ้ได้จาก ผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน หรือบวม หากไม่มีอาการใดๆ ก็สามารถใช้ต่อไปได้

วิธีการใช้
สำหรับวิธีการใช้นั้นให้เทเจลล้างมือ 2-3 มิลลิลิตร หรือ 2-4 หยด ลงบนฝ่ามือ และถูให้ทั่วทั้งสองมือเป็นเวลาประมาณ 20 วินาที และปล่อยให้แห้งในอากาศ แต่ก็ยังมีข้อควรระวังอยู่เช่นกัน ด้วยความที่เจลนี้มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ในปริมาณค่อนข้างมาก ซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟได้ ดังนั้นหากนำมาทามือแล้วยังไม่แห้ง ควรหลีกเลี่ยงเปลวไฟ รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่ด้วย อีกทั้งไม่ควรใช้กับเด็กทารก หรือบริเวณที่ผิวบอบเบา เช่น รอบดวงตา ผิวอักเสบ มีบาดแผล หรือมีสิว เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็ควรเก็บผลิตภัณฑ์ในภาชนะปิดสนิท ในบริเวณที่ไม่ถูกแสงแดด หรือบริเวณที่ร้อน เพราะจะทำให้แอลกอฮอล์ระเหย และความเข้มข้นของแอลกอฮอล์อาจลดลงได้ด้วย

ขอบคุณ : บทความดี ๆ จาก กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 มีนาคม 2563

ที่มา : ratchakitcha, ratchakitcha(2), bangkokbiznews, กระทรวงสาธารณสุข, fda,

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร: 02-331-9014 หรือ sales@innovapack.co.th
© 2015 บริษัท อินโนวาแพค จำกัด