จากกรณีกรมอนามัยเตือนเรื่องการใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันจากอาหารมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารก่อมะเร็ง ล่าสุดนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญกลุ่มเยื่อและกระดาษ “โครงการฟิสิกส์และวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เขียนบทความซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า การใช้ทิชชูควรใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ คือ ใช้ภายนอก ไม่สมควรนำมารับประทาน สำหรับการซับน้ำมันแนะนำว่าไม่ควรนำทิชชูมาใช้ อย่างไรก็ตาม แม้จะนำมาซับก็ไม่มีสารก่อมะเร็งหรือสารไดออกซินหลุดออกมา หรือมีสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ออกมาทำลายเนื้อเยื่อตามข่าว กระบวนการฟอกเยื่อในขั้นตอนการผลิตกระดาษแม้จะก่อให้เกิดพิษ คือ Ordanically bound chlorine หรือที่รู้จักกันในอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษว่า AOX แต่ไม่เกิดไดออกซินในกระบวนการฟอกเยื่อ”
การซับน้ำมันจากอาหาร
กระดาษที่ใช้จะสัมผัสกับอาหารต้องเลือกใช้กระดาษที่ผลิตมาเพื่อใช้กับอาหารโดยเฉพาะและต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล เช่น HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) เป็นมาตรฐานการผลิตที่มีมาตรการป้องกันอันตรายที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร เป็นที่นิยมใช้ในวงการอุตสาหกรรมอาหาร ร้านอาหารข้ามชาติ หรือ ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งจะต้องไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายออกมาปนเปื้อนกับอาหาร ปราศจากเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมติดค้างอยู่
แนวทางการเลือกใช้กระดาษทิชชูให้เหมาะสมกับการใช้งาน
การเลือกใช้กระดาษทิชชูให้เหมาะสมกับการใช้งานและถูกประเภทจะช่วยเรื่องถูกสุขลักษณะมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระดาษทิชชูแบ่งออกเป็น 4 แบบ โดยมีรูปแบบและวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ต่างกัน อันดับแรก คือกระดาษชำระ (Bathroom tissue) คือ กระดาษทิชชูแบบม้วนที่เห็นกันในห้องน้ำเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็อยู่ในกล่องพลาสติกกลมๆ บนโต๊ะอาหาร กระดาษชำระนี้มีหน้าที่ในการนำมาชำระส่วนขับถ่าย แบบต่อมาคือ กระดาษเช็ดหน้า (Facial tissue) กระดาษอีกชนิดหนึ่งที่เห็นกันบ่อยตามบ้าน มีลักษณะเป็นแผ่นๆ อยู่ในกล่องกระดาษสี่เหลี่ยมผืนผ้า สำหรับเช็ดเครื่องสำอาง หรือเช็ดน้ำหลังจากล้างหน้า ส่วนกระดาษเช็ดปาก (Napkin) โดยทั่วไปเราจะไม่พบในบ้าน แต่จะพบบ่อยที่ร้านอาหารภัตตาคาร โรงแรม เป็นต้น แบบสุดท้ายก็คือกระดาษเช็ดมือ (Hand towel) ส่วนใหญ่จะอยู่ในห้องน้ำสาธารณะ บรรจุในกล่องติดผนังข้างๆ อ่างล้างมือ